ลูกอ่านหนังสือไม่ออก ปัญหาหนักอกของพ่อแม่

ลูกอ่านหนังสือไม่ออกปัญหาหนักอกของพ่อแม่
     ภาษาไทยวิชาที่หลายคนมองข้ามเหตุผลอาจจะเป็นเรื่องของความน่าเบื่อหรือไม่สนุกในการเรียนหรือแม้กระทั่งเป็นภาษาที่เราใช้พูดคุยกันอยู่จนเคยชินทำให้ไม่รู้สึกอยากเรียนเขียนอ่าน
      แต่ในความเป็นจริงแล้ววิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่สำคัญมากๆอาจจะสำคัญที่สุดในทุกวิชาก็ว่าได้เหตุผลเพราะว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ในการเรียนวิชาอื่นๆเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาไทยในการอ่านและเขียนทั้งสิ้น
     โดยเฉพาะการอ่านซึ่งเป็นประตูเปิดไปสู่ความรู้ใหม่ๆหากเราอ่านไม่เข้าใจหรือช้าจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น การทำข้อสอบหากเราอ่านทำความเข้าใจตีโจทย์ช้ากว่าคู่แข่งเราย่อมเสียเปรียบในการทำข้อสอบ หรืออ่านแล้วเข้าใจผิดตีความผิดเราก็ทำข้อสอบผิดได้เช่นกัน
     วันนี้เลยอยากจะมาชวนคุยในเรื่องการอ่านภาษาไทยสำหรับเด็กไทยโดยเฉพาะในวัยอนุบาลจนถึงประถมศึกษาตอนต้น จากการประเมินด้วยการสอบข้อสอบที่เป็น reading test ของเด็กประถมต้นจะพบว่าสัดส่วนของเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกหรือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานมีค่อนข้างสูง
     สาเหตุหลักๆน่าจะมาจากระบบการเรียนของกระทรวงที่เน้นไปที่การสะกดคำเป็นหลัก ถามว่าการสะกดคำนั้นเป็นสิ่งผิดหรือไม่คำตอบคือ ไม่ แต่ว่าควรจะมาภายหลังจากการทำกระบวนการอื่นเสียก่อน
     โดยธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาเราเรียนรู้ภาษาจากการฟังพูดแล้วค่อยมาถึงการอ่านเขียน ก่อนวัยอนุบาลจนถึงวัยอนุบาลเด็กได้เรียนรู้คำศัพท์จากที่บ้านและที่โรงเรียนโดยการฟังและรู้ความหมายผ่านสิ่งที่คนอื่นพูดและเลียนแบบ
     พอถึงวัยปฐมต้นเราเริ่มให้เด็กเรียนสะกดคำดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่จริงๆแล้วเราเคยลองสังเกตหรือไม่ว่าคำที่เราเขียนได้ที่เราอ่านออกทุกวันนี้เราไม่ได้สะกดเป็นทุกคำ หากแต่เราใช้วิธีเทียบเคียงจากศัพท์คำเดิมที่เรารู้เช่นคำว่า “กับ” กับคำว่า “ขับ” เป็นต้น
     ปัญหาของกระบวนการอ่านเกิดขึ้นที่โรงเรียนตอนที่ครูพยายามจะสอนการสะกดคำให้กับเด็กเด็กบางคนที่ตามเพื่อนไม่ทันหรือไม่เข้าใจตรรกะกระบวนการของการสะกดมาตราแม่สะกดต่างๆหรือแม้กระทั่งวรรณยุกต์เอก โท ตรี ทำให้เด็กรู้สึกว่ามันยากเกินไป เลยไม่อยากจะสะกดหรือสะกดก็กลัวจะผิดทำให้การอ่านของเด็กจะสะกดทุกคำตามมาด้วยปัญหาเรื่องการอ่านช้าและไม่เข้าใจความหมายตามมา
วิธีการง่ายๆในการแก้ปัญหานี้
     1. เราอาจจะเริ่มจากการใช้การ์ดคำที่มีรูปภาพแสดงความหมายและมีคำภาษาไทยอยู่ใต้ภาพและไม่ต้องพยายามสะกดให้เด็กอ่านการ์ดคำที่มีจำนวนมากพออาจจะเป็น 200 ถึง 400 คำจะทำให้เด็กมีความมั่นใจในการอ่านมากขึ้น
     2.ใช้หนังสือนิทานที่มีตัวหนังสือตัวโตๆอ่านให้เด็กฟังและให้เด็กอ่านตามและเข้าใจความหมายผ่านรูปภาพก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
     3.ค่อยๆขยับจากการอ่านคำคำเดียวมาเป็น อนุประโยคจนกระทั่งเป็นประโยคและเป็นเนื้อเรื่องจะช่วยให้เด็กค่อยๆมีความมั่นใจจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยากขึ้น
     4.พ่อแม่ควรให้กำลังใจเด็กไม่ควรต่อว่าเด็กมากเกินไปหรือดูถูกความสามารถว่าแค่นี้ทำไมทำไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วในวัยประถมต้นหรืออนุบาลเด็กยังมีความพร้อมไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในการรับรู้การอ่านเขียนสำหรับเด็กบางคนเราอาจจะต้องให้เวลาเขามากขึ้น
     ท้ายที่สุดการเรียนภาษาไทยเป็นความสำคัญที่สุดในการเรียนเพราะต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการเรียนในชั้นมหาวิทยาลัยที่ต้องใช้การอ่านอย่างมากหรือการทำงานที่ต้องอ่านจดหมายเอกสารต่างๆเพื่อตีความทำความเข้าใจเพราะฉะนั้นการทำให้เด็กมีความพร้อมมีพื้นฐานในการอ่านภาษาไทยที่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ครูขวัญ ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ ก้าวข้ามอุปสรรค อย่าง มีความสุขกับการดูแลน้องๆ ไปพร้อมๆกันนะคะ

Facebook
Twitter