เรียนพิเศษนั้นสำคัญไฉน ????

การเรียนพิเศษ คือการเรียนการสอนนอกห้องเรียนเพื่อเติมหรือเสริม (Supplement) การเรียนแบบปกติจากในห้องเรียน ถือเป็น ‘บริการ’ รูปแบบหนึ่ง บางคนก็อาจเรียกการเรียนพิเศษว่าเป็น ‘Shadow Education’ 

 

การเรียนพิเศษอาจจะสอนแบบตัวต่อตัว สอนเป็นกลุ่ม หรือสอนออนไลน์ สำหรับประเทศในแถบเอเชีย การเรียนพิเศษมักเกิดขึ้นในโรงเรียนกวดวิชา (ที่รู้จักกันในชื่อ Cram School) และไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย 

 

ในมาตรา 20 (5) ในพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 อธิบายว่า ‘โรงเรียนกวดวิชา’ เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกวดวิชาบางวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จากการสำรวจโดย Bray and Lykins (2012) พบว่า กว่าครึ่งของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในหลายประเทศในเอเชีย เช่น บังกลาเทศ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ต่างก็เรียนพิเศษในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สถาบันกวดวิชา (นิติบุคคล) ที่ดำเนินการอยู่ เพิ่มขึ้นจาก 303 รายในปี พ.ศ. 2559 เป็น 494 รายในปี พ.ศ. 2563 นิติบุคคลจัดตั้งใหม่เฉลี่ยปีละ 50 ราย รายได้รวมไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ธุรกิจสถาบันกวดวิชา (ที่จดทะเบียนและรู้ข้อมูลแน่ชัด) ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปีหลัง ตอบสนองผู้บริโภคหลักอย่างนักเรียนระดับประถมฯ และมัธยมศึกษานับล้านคนได้เป็นอย่างดี

 

การเติบโตของโรงเรียนกวดวิชาและการเรียนพิเศษ ได้ดึงดูดความสนใจของนักวิจัยที่ทำงานในแวดวงการศึกษา คำถามสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนพิเศษกับความเหลื่อมล้ำ Dang and Rogers (2008) ตีพิมพ์บทสำรวจปรากฏการณ์ของการเรียนพิเศษใน World Bank Research Observer ส่วนหนึ่งของบทสำรวจได้อธิบายเรื่องของความเหลื่อมล้ำว่า ครัวเรือนที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่า (More Privileged Households) เช่น ครัวเรือนที่มีรายได้และการศึกษาสูงกว่าที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมักลงทุนในการเรียนพิเศษมากกว่าครัวเรือนอื่นๆ 

 

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานชี้ชัดว่า การเรียนพิเศษช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Achievement) สิ่งสำคัญก็คือว่า ถ้าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การมีรายได้ตลอดช่วงชีวิต (Lifetime Earnings) ที่สูงขึ้น ก็ไม่แปลกที่การมีอยู่ของการเรียนพิเศษ (Household-financed Tutoring) จะไปทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมแย่ลง

 

อย่างไรก็ตาม Dang and Rogers (2008) บอกว่า เราไม่ควรรีบด่วนสรุปว่า การเรียนพิเศษทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมเพิ่มขึ้น หรือเสนอว่า รัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำควรจำกัดจำนวนการเรียนพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเราลองนึกถึง Counterfactual (เหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง) ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีการเรียนพิเศษ การเรียนพิเศษอาจไม่เกี่ยวอะไรกับความเหลื่อมล้ำก็ได้ 

 

ครูสอนพิเศษที่เก่งฉกาจอาจมีส่วนช่วยเด็กแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะครอบครัวที่มีรายได้มากกว่าย่อม ‘จัดหา’ สิ่งอื่นๆ ให้กับบุตรหลานได้มากกว่าครอบครัวอื่นอยู่แล้ว เช่น สามารถซื้อหนังสือให้ได้มากกว่า มีอุปกรณ์ ดินสอ ยางลบ ที่พร้อมกว่า 

 

การห้ามเรียนพิเศษทำให้ครอบครัวที่รวยกว่าหันเห (Redirect) ทรัพยากรไปกับเรื่องอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของบุตรหลาน สุดท้าย ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่หายไปไหน แม้จะยกเลิกการเรียนพิเศษ ในทางกลับกัน การเข้าถึงการเรียนพิเศษของครัวเรือนที่ยากจน อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับครัวเรือนที่ร่ำรวย และมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำในอนาคตลดลง 

 

Dang and Rogers แนะนำว่า รัฐบาลควรหาวิธีอื่นในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แทนที่จะห้ามการเรียนพิเศษ โดยได้ยกตัวอย่างของเกาหลีใต้ที่ใช้การสุ่มเด็กนักเรียนเพื่อเข้าเรียน (A Secondary School Equalization Program) เพื่อลดความได้เปรียบทางด้านคุณภาพของโรงเรียนชั้นนำ และลดแรงจูงใจในการเรียนพิเศษ 

 

Dang and Rogers ยังแนะนำว่า จริง ๆ แล้วรัฐบาลอาจใช้การเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมในด้านการศึกษา โดยจัดการเรียนพิเศษให้กับเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ค่อยดี หรือเด็กนักเรียนยากจน

 

เมื่อมาดูงานวิจัยในญี่ปุ่น Ryoji Matsuoka (2018) ได้ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนพิเศษ (หรือ Juku ในภาษาญี่ปุ่น) ตีพิมพ์ในวารสาร Comparative Education Review พบว่า กว่า 72% ของนักเรียนเกรด 9 ในญี่ปุ่นเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา 

 

นอกจากนั้นยังพบว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Status) ของนักเรียน (ครอบครัว) และความคาดหวังของผู้ปกครองในด้านการศึกษา มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา 

 

ข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ ตรงกับงานของ Lynch and Moran (2006) ที่บอกว่า ครอบครัวที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มที่จะลงทุนส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีอันดับดีกว่า 

 

Matsuoka (2018) ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสังคมญี่ปุ่นที่เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ภายใต้ระบบการศึกษาแบบ ‘Egalitarian Compulsory Education System’ แต่คนที่รวยกว่าก็ยังคงมีโอกาสมากกว่าในการได้เรียนต่อในสถาบันการศึกษาดีๆ ผ่านการซื้อ ‘บริการ’ ด้านการศึกษาจากตลาด Matsuoka จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการกับโอกาสที่ไม่เท่าเทียมภายนอกโรงเรียน

 

ถ้ามองการเรียนพิเศษเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ขายในตลาด แน่นอนว่าภายใต้ระบบทุนนิยม ใครมีเงินมากกว่าก็สามารถซื้อสินค้าชนิดนี้ได้มากกว่าและเร็วกว่า ‘การเรียนพิเศษ’ จึงฉายซ้ำภาพความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิหนำซ้ำ ยังเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในอนาคตแย่ลง

 

เมื่อความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย การเรียนพิเศษจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ซ่อนมิติทางสังคม เศรษฐกิจ ที่น่าขบคิดมากมาย ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ระหว่างโรงเรียนในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด มีส่วนทำให้ธุรกิจสถาบันกวดวิชาในไทยเติบโต สังเกตได้จากการที่สถาบันกวดวิชาน้อยใหญ่เปิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ การเติบโตนี้สอดรับกับความกินดีอยู่ดีที่เพิ่มขึ้นของคนต่างจังหวัดในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา หรือพูดง่ายๆ ว่า คนต่างจังหวัดก็มีกำลังทรัพย์ในการซื้อ ‘สินค้า’ ชนิดนี้ เฉกเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ ก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่มีอยู่ (Existing Inequality) ระหว่างเด็กกรุงเทพฯ กับเด็กต่างจังหวัด เพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อันเป็นเป้าหมายปลายทางของการศึกษาเล่าเรียน

 

อย่างไรก็ตาม การเรียนพิเศษก็อาจเป็นแค่สินค้าที่สงวนไว้ให้ครอบครัวชนชั้นกลาง (ขึ้นไป) เท่านั้น ในขณะที่เราคุยเรื่องการเรียน ‘พิเศษ’ ยังมีเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสอีกจำนวนมากที่อยู่นอกระบบการศึกษา สาเหตุไม่ใช่เพราะไม่มีโรงเรียน แต่เพราะฐานะทางครอบครัวที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องหยุดเรียน 

 

จากการประมาณโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ไทยมีเด็กกลุ่มนี้มากถึง 670,000 คน อันเนื่องมาจากความยากจน ความพิการ และปัญหาครอบครัว การสร้างโรงเรียน (Quantity) และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Quality) ไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้กลับเข้าระบบการศึกษา เป็นหน้าที่ของรัฐไทยที่จะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อนักเรียนยากจน นอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาก็จะแคบลงด้วย

 

‘การเรียนพิเศษ’ มีดีมานด์และซัพพลายของตัวมันเอง การยกเลิกการเรียนพิเศษอาจไร้ความหมาย หากรัฐบาลไม่อาจจัดหาระบบการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ และทั่วถึงเท่าเทียม

Facebook
Twitter